22 มิถุนายน 2552

ประวัติพระสารีบุตร

พระสารีบุตรเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระสารีบุตร เกิดในตำบลบ้านชื่อ นาลกะ หรือ นาลันทา ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี บิดาของท่านเป็นนายบ้านตำบลนั้น เดิมท่านชื่อว่า อุปติสสะ อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกชื่อตามความที่เป็นบุตรนางสารีว่า “สารีบุตร” เมื่อท่านมาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว สพรหมจารี (สพรหมจารี – เพื่อนผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายถึงพระภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า “พระสารีบุตร” ทั้งนั้นฯ สกุลพราหมณ์ผู้เป็นบิดาแห่งอุปติสสมาณพ เป็นสกุลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้เร็ว และได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้รุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งเป็นบุตรแห่งสกุลที่มั่งคั่งเหมือนกัน เพราะตระกูลทั้งสองนั้นเป็นสหายติดต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษฯ อุปติสสมาณพ และ โกลิตมาณพ สองสหายนั้น ได้เคยไปเที่ยวดูมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเสมอ เมื่อดูอยู่นั้นย่อมร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก สลดใจในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอบชอบใจก็ให้รางวัลฯ วันหนึ่งสองสหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่หาได้ร่าเริงเหมือนเหมือนวันก่อน ๆ ไม่ เพราะพิจารณาเห็นว่าการดูมหรสพไม่เป็นสารประโยชน์อะไร เมื่อเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก ก็เล่าเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด อาจารย์จึงได้ขอให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนศิษย์ต่อไป สองสหายนั้นยังไม่พอใจในลัทธิของสัญชัยเพียงแค่นั้น จึงได้กระทำกติกานัดหมายกันว่าจะแสวงหาธรรมะอันวิเศษอีกต่อไป และถ้าใครได้พบธรรมอันวิเศษแล้วก็ขอให้จงบอกแก่กันฯ สมัยนั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหารฯ วันหนึ่งพระอัสสชิ ซึ่งจัดเข้าในพระปัญจวัคคีย์ ที่พระบรมศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนาได้กลับมาเฝ้า และเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ในตอนเช้า อุปติสสปริพาชก เดินจากที่อยู่ของปริพาชก ได้เห็นท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใส อยากทราบลัทธิของท่าน เมื่อได้โอกาสแล้ว จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชกพอเป็นเลา ๆ ความว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ฯ” อุปติสสปริพาชกได้ฟังแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงกลับมาบอกข่าวที่ตนได้พบพระอัสสชิ ให้โกลิตปริพาชกผู้เป็นสหายทราบแล้วแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตปริพาชกได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงชวนกันจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งหมดฯ สองสหายนั้นครั้นบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า “สารีบุตรและโมคคัลลานะ”

บรรลุธรรม
ภิกษุที่เป็นบริวารนั้น ครั้นได้ฟังธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาแสดงแล้วก็บรรลุพระอรหัตต์ก่อน ฯ พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหัตต์ฯ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยได้ฟังเทศนาเวทนาปริคคหสูตร ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ฯ มีเรื่องเล่าถึงความสำเร็จพระอรหันต์ของท่านว่า เมื่อท่านบวชแล้ว ๑๕ วัน พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อว่า ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากล่าวปราศรัยแล้ว จึงกราบทูลความเห็นของตนว่า “พระโคตมะ” ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด”ฯ พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงทิฐิ ๓ อย่างให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นต่อไป สมัยนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชกนั้น พิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานฯ ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้นได้เพียงดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตนเป็นอุบาสกฯ

เอตทัคคะ
ท่านพระสารีบุตรเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา และเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางปัญญา สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจ (อริยสัจ ๔) ให้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระองค์ได้ฯ

คุณธรรมพิเศษ
ท่านยังมีคุณความดีที่พระองค์ทรงยกย่องอีกเป็นหลายสถาน จะยกมากล่าวแต่ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตร เป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เรื่องนี้มีตัวอย่าง เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระองค์ ทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหายฯ
๒. ทรงยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ เช่น ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เธอเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น”ฯ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายฯ
๓. มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า “พระธรรมราชา”

ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีที่ปรากฏในตำนานอีกมาก ที่สำคัญก็คือ

ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจนฯ ขอยกตัวอย่างภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ยมกะ มีความเห็นว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญฯ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงได้หายความเคลือบแคลงสงสัย

ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีฯ ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างคือ ท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดง ได้บรรลุโสดาบันแล้ว มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ก็จะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกอย่างหนึ่งท่านยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท เพราะระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีหนึ่ง ในเมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ (เรื่องนี้จักมีพิสดารในประวัตพระราธเถระ)

อนึ่ง ท่านพระสารีบุตร นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา ธรรมภาษิตของท่านจึงมีปรากฏอยู่มาก เช่น สังคีติสูตรเป็นต้น ยกเว้นพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมากกว่าพระสาวกอื่น ๆ

นิพพาน
พระสารีบุตรนั้นนิพพานก่อนพระบรมศาสดา ก่อนแต่จะปรินิพพาน ท่านพิจารณาเห็นว่า ควรปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด จึงกราบทูลลาสมเด็จพระบรมศาสดา ไปกับพระจุนทะผู้น้องพร้อมด้วยบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้ว เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลากำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล พอเวลาใกล้รุ่งของคืนเดือน ๑๒ พระเถรเจ้าก็ปรินิพพาน รุ่งขึ้นพระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระองค์โปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระเถรเจ้าไว้ ณ ที่นั้นฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น