6 กรกฎาคม 2552

อานิสงส์ของการได้มีพระธาตุไว้บูชา


พระโมคคัลลานะได้ขึ้นไปบนสวรรค์ และถามเทวบุตรองค์หนึ่งว่าเหตุใดจึงได้มาอยู่ที่ อเนกวัณณวิมาน"... ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระชินเจ้าทรงพระนามว่าสุเมธ เป็นปุถุชนยังไม่ได้ตรัสรู้มรรคผล บวชอยู่ ๗ พรรษา เมื่อพระศาสดาทรงพระนามว่าสุเมธผู้ชนะมาร มีโอฆะอันข้ามได้แล้ว ผู้คงที่ ปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้านั้นได้ ไหว้รัตนเจดีย์อันหุ้มด้วยข่ายทองคำ ยังใจให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้นข้าพเจ้าไม่มีการให้ทาน เพราะข้าพเจ้าไม่มีไทยวัตถุให้ แต่ได้ชักชวนชน เหล่าอื่นในการให้ทานนั้นว่า ท่านทั้งหลายจงบูชาพระธาตุของพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชาเถิด ได้ยินว่าพวกท่านจักไปสู่สวรรค์ เพราะการบูชาพระบรมธาตุอย่างนี้ กุศลกรรมเท่านั้นอันข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว ข้าพเจ้า จึงได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์ด้วยตนเอง บันเทิงใจอยู่ในท่ามกลางหมู่เทพเจ้าชาวไตรทศ ข้าพเจ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งบุญนั้น..."


ขอบคุณ www.pratatlanna.com

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ

พระบรมสารีริกธาตุ
คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ (บางทีอาจใช้คำว่า "พระบรมธาตุ" หรือ "พระสารีริกธาตุ" แทนได้)
"พระธาตุ" คือ กระดูก หรือ ส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย ' ธาตุ ' ซึ่งหากมองโดย ไม่สังเกตให้ดีแล้ว ก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ
คำว่า พระบรมธาตุ และ พระธาตุ ยังอาจใช้หมายถึงพระสถูปเจดีย์ต่างๆได้อีกด้วย เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุพนม ฯลฯ

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนและพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป พบว่ามีลักษณะที่มองจากภายนอกคร่าวๆได้ดังนี้


- มีด้วยกันหลายสี ตั้งแต่ใสดั่งแก้วจนกระทั่งขุ่น สีขาวดุจสีสังข์ สีทอง สีดำ สีชมพู สีแดง ฯลฯ
- มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ลักษณะเมล็ดข้าวสาร พันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่วแตก แก้วใส ฯลฯ
- หากมีขนาดเล็กมักสามารถลอยน้ำได้ เมื่อลอยด้วยกันจะสามารถดึงดูดเข้าหากันได้ และลอยติดกันเป็นแพ
- สามารถเสด็จมาเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดลงได้เอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุ
- เปลี่ยนขนาดและสีสันเองได้
- ส่วนมากมักมีน้ำหนักค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับขนาด

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ
อรรถ กถาสุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.นวิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์
2.วิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านได้จำแนกลักษณะและขนาดของพระบรมสารีริกธาตุชนิด วิปฺปกิณฺณา ธาตุ ต่อไปอีกดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอก แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ


1. (สี)เหมือนดอกมะลิตูม (สีพิกุล) [อรรถกถาบาลีว่า สุมนมกุลสทิสา] ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 6 ทะนาน


2. (สี)เหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก) [อรรถกถาบาลีว่า โธตมุตฺตสทิสา] ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน


3. (สี)เหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร) [อรรถกถาบาลีว่า สุวณฺณจุณฺณา] ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

แบ่งได้เป็น 3 ขนาด ได้แก่


พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานดั่งเมล็ดงา


พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานดั่งเมล็ดพันธุ์ผักกาด

ขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดพันธุ์ผักกาด*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งมะลิตูม

"กระดูกของปุถุชนผู้มีกิเลสหนา ตัณหาเหนียว ย่อมมีโครงสร้างสลับซับซ้อน ประกอบด้วยสารผสมเชิงซ้อนหลายชั้นจนมีสีดำ กระดูกของผู้มีศีลธรรม ผู้มีกิเลศเบา ตัณหาบาง ย่อมมีโครงสร้างโปร่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีความสับสนน้อย มักมีสีเทา กระดูก ของพระอรหันต์ ผู้หมดจดปราศจากกิเลศตัณหา เพราะตัดสายอุปทาน (อันเป็นแรงร้อยยึดเหนี่ยว) เสียได้ กระดูกของท่านจึงสลายตัวกลายเป็นธาตุเดี่ยว กล่าวคือ ส่วนที่เป็นแคลเซียมก็รวมตัวกับแคลเซียม ส่วนที่เป็นซิลิคอนรวมกับซิลิคอน มีสีและคุณสมบัติเป็นธาตุอันอิสระตามเดิม ซึ่งเรียกว่า พระธาตุดังนี้ "



พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานดั่งเมล็ดข้าวสาร

พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานดั่งเมล็ดข้าวสารหัก

ขนาดเขื่อง คือมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะข้าวสาร *บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งแก้วมุกดา


พระบรมสารีริกธาตุ สัณฐานดั่งเมล็ดถั่วแตก
ขนาดใหญ่ คือมีขนาดใหญ่ที่สุด ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดถั่ว *บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งทองอุไร

ขอบคุณข้อมูล www.relicsofbuddha.com
และ www.pratatlanna.com

พุทธเจดีย์

เจดีย์ที่สร้างขึ้นมาในพระพุทธศาสนา มีไว้เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้งสิ้น สามารถแบ่งได้ เป็น 4 ประเภท นั่นคือ

1. พระธาตุเจดีย์คือ เจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระธาตุ เช่น พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ บรมบรรพต(ภูเขาทอง) ฯลฯ

2. พระธรรมเจดีย์ มีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากการที่ทรงมีพุทธดำรัสก่อนพุทธปรินิพพานว่า พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ จึงเกิดมีการคิดจารึกพระธรรมลงบนวัตถุแล้วนำมาบูชาแทนพระธรรม เช่น พระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ ฯลฯ


3. บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่หรือสิ่งของทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถานทั้งสี่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธบริขาร รอยพระพุทธบาท ฯลฯ


4. อุเทสิกเจดีย์ คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบอย่างชัดเจน เช่น พระพุทธรูป พระผง พระเครื่อง พระพุทธบาท(จำลอง) ฯลฯ ทั้งนี้ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุจำลองด้วย
ขอบคุณ www.relicsofbuddha.com

พระบรมสารีริกธาตุ



ตำนานการเกิดพระบรมสารีริกธาตุ
เหตุที่เกิดพระบรมสารีริกธาตุจำนวนมากขึ้นนั้น พระโบราณาจารย์อธิบายว่า เกิดจากพุทธประสงค์ ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน ดังต่อไปนี้


โดยปกติที่พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาว สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง จะมีพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะรวมกันเป็นแท่งเดียว ดุจทองแท่งธรรมชาติ ซึ่งมหาชนในสมัยนั้นไม่สามารถแบ่งปัน นำไปประดิษฐานตามที่ต่างๆได้ จึงจำต้องสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ในที่แห่งเดียว ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระสมณโคดม) ทรงเล็งเห็นว่า พระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง 45 ปี นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ศาสนาของพระองค์ยังไม่แพร่หลาย และหมู่สัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ทันสมัยพระองค์มีมากนัก หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฎฐากบูชา จะได้บุญกุศลเป็นอันมาก จึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แตกย่อยลงเป็น 3 สัณฐาน เว้นแต่ธาตุทั้ง 7 ประการ คือ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก)1 พระเขี้ยวแก้ว4 และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)2 นอกจากนั้นให้กระจายไปทั่วทิศานุทิศ เพื่อยังประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป


ซึ่งความทั้งหมดพ้องกันจากตำราหลายๆ ตำรา ที่พระอาจารย์สมัยต่างๆได้รจนาไว้ ดังเช่น "อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี" "ปฐมสมโพธิกถา" ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส "ตำนานมูลศาสนา" "ชินกาลมาลีปกรณ์" และ "พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก" เป็นต้น



สถานที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุ แบบที่กระจัดกระจายนั้น หลังจากได้ทำการแบ่งออกเป็น 8 ส่วน แยกย้ายไปประดิษฐานตามเมืองต่างๆ หลังจากถวายพระเพลิงแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ และ พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ร่วมกันกระทำ 'ธาตุนิธาน' คือการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่แบ่งออกไปนั้นกลับมาประดิษฐานรวมกันไว้ในที่แห่งเดียว เพื่อป้องกันการสูญหาย จากการศึกและสงคราม และในตอนท้ายของตำนานกล่าวว่า บุคคลผู้มาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกไปและกระทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยิ่งใหญ่ ก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช นั่นเอง


จากเนื้อความในพระปฐมสมโพธิกถา ได้มีการแจกแจงถึงสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แบบที่ไม่กระจัดกระจาย ทั้ง 7 ประการ สรุปได้ดังนี้

จากเนื้อความในพระปฐมสมโพธิกถา ได้มีการแจกแจงถึงสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แบบที่ไม่กระจัดกระจาย ทั้ง 7 ประการ สรุปได้ดังนี้
1. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ประดิษฐานอยู่ที่ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (บางตำรากล่าวว่า ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ประเทศศรีลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย)
2. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ เมืองคันธารราฏฐ (แคว้นคันธาระ เป็นอาณาจักรในสมัยโบราณ กินอาณาเขตทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน และตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน)
3. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างขวา ประดิษฐานอยู่ที่ ณ ประเทศศรีลังกา(เชื่อกันว่า เป็นพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดาลาดามาลิกาวา เมืองเคนดี ในปัจจุบัน)
4. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ นาคพิภพ
5. พระรากขวัญขวา ประดิษฐานอยู่ที่ พระเกศจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (บางตำรากล่าวว่า ภายหลังได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระเจดีย์ถูปาราม ประเทศศรีลังกา)
6. พระรากขวัญซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ ทุสสเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก (ทุสสเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ ณ อกนิฏฐพรหมโลก ซึ่งเป็นภพภูมิหนึ่งในปัญจสุทธาวาส และเป็นชั้นสูงสุดของรูปพรหม)
7. พระอุณหิศ(กรอบหน้า) ประดิษฐาน ณ ทุสสเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก (บางตำรากล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้เก็บรักษาไว้ และมอบแก่สัทธิวิหาริกสืบต่อกันมา ภายหลังพระมหาเทวเถระ จึงได้เป็นผู้อัญเชิญไปประดิษฐานยังประเทศศรีลังกา)


ขอบคุณข้อมูล relicsofbuddha.com

22 มิถุนายน 2552

ประวัติพระมหาโมคคัลลานะ

ประวัติ พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านในหมู่บ้านโกลิตคาม ได้ชื่อว่า “โกลิตะ” ตามชื่อของหมู่บ้าน มารดาชื่อ โมคคัลลี คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา ท่านเป็นสหายที่รักกันมากับอุปติสสมาณพ เที่ยวแสวงหาความสุขความสำราญ ตามประสาวัยรุ่น และพ่อแม่มีฐานะร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีอุปนิสัยใจคอเหมือนกัน และยังได้ออกบวชพร้อมกันอีกด้วย (ประวัติเบื้องต้นของท่านถึงศึกษาจากประวัติของพระสารีบุตร)

ทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ ๗ วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ซึ่งเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่เนื้อ ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงแก่เธอตามลำดับ ดังนี้:-

๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๒. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๓. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๔. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ายมือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๕. ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๖. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๗. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

๘. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับจนที่สุดถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ เมื่อปรานอุบายแก้ง่วงดังนี้แล้วได้ประทานพระโอวาทอีก ๓ ข้อ คือ:-

๑. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น เป็นนี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้องรับ เธอก็จะเก้อเขินคิดไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ

๒. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกันเพราะถ้าเถียงกันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ

๓. โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมชักนำไปสู่การสิ้นตัณหา เกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบให้จิตติดอยู่พระพุทธองค์ ตรัสสอนในเรื่องธาตุกรรมฐาน โดยใจความว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง และให้พิจารณาดังปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว”

พระมหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้าย โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า:-“พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงขึ้นไป”

นอกจากนี้ พระมหาโมคคัลลานะ ยังเป็นผู้มีความสามารถในการ นวกรรม คือ งานก่อสร้าง พระบรมศาสดาเคยทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ นวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวิหารบุพพาราม ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งนางวิสาขาบริจาคทรัพย์สร้างถวายอีกด้วย

พระเถระมีความสามารถในทางอิทธิปาฏิหาริย์

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรากฏว่าท่านมีความสามารถโดดเด่นในทางอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเลิศ กว่าภิกษุทั้งหลาย ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ ไปยังภูมิของสัตว์นรก และไปโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ได้ ท่านได้พบเห็นสัตว์นรกในขุมต่าง ๆ ที่ได้เสวยความสุขจากการทำบุญไว้ในเมืองมนุษย์เช่นกัน ท่านได้นำข่าวสารของสัตว์นรกและของเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้น มาแจ้งแก่บรรดาญาติและชนทั้งหลายให้ทราบ ทำให้บรรดาญาติและชนเหล่านั้นพากันละเว้นกรรมชั่วลามกอันจะพาตนไปเสวยผลกรรมในนรก พากันสร้างบุญกุศล อันจะนำตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และพร้อมกันนั้นก็พากันทำบุญอุทิศไปให้แก่ญาติของตน เหล่าชนบางพวกที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็พากันละทิ้งลัทธิศาสนาเดิมมาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ทำให้พวกเดียรถีย์ทั้งหลายต้องเสื่อมจากลาภสักการะ เป็นอยู่ลำบากอดอยากขึ้นเรื่อย ๆ

พระมหาโมคคัลลานเถระถูกโจรทุบ

วันเวลาผ่านไปตามลำดับ เข้าสู่ปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระพักอยู่ที่กาฬศิลา ในมคธชนบทนั้นพวกเดียรถีย์ ทั้งหลาย มีความโกรธแค้นพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นอย่างมาก เพราะความที่ท่านมีฤทธานุภาพมาก สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรกได้ แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทำให้พวกเดียรถีย์ ต้องเสื่อมคลายความเคารพนับถือจากประชาชน ลาภสักการะก็เสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง จึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นอันเดียวกันว่า “ต้องกำจัดพระมหาโมคคัลลานะ เพื่อตัดปัญหา” ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินทุนจากบรรดาศิษย์ และอุปัฏฐากของตนเมื่อได้เงินมาพอแก่ความต้องการแล้ว ได้ติดต่อจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ พวกโจรใจบาป ได้รับเงินสินบนแล้วพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่า ที่ตนเคยทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้พวกโจรจับอย่างง่ายดาย และถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี พวกโจรแน่ใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างของท่านไปทิ้งในป่าแห่งหนึ่ง แล้วพากันหลบหนีไป

กราบทูลลานิพพาน

พระมหาโมคคัลลานเถระ คิดว่า “เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค ก่อนจึงปรินิพพาน” ดังนี้แล้วก็เรียบเรียงสรีรกายประสานกระดูกผูกหมั่นด้วยกำลังฌาน เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลาปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพาน ที่ไหน เมื่อไร ?”

“ข้าพระองค์ จะนิพพานที่กาฬศิลาในวันนี้ พระเจ้าข้า”

“โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน ด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว”

พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้นจึงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงพระธรรมเทศนาแล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา และปรินิพพาน ณ ที่นั้น ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วันพระผู้มีพระภาค เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงมาโดยรอบบริเวณ มหาชนพากันประชุมทำสักการะอัฐิธาตุตลอด ๗ วัน พระพุทธองค์โปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งพระเชตะวัดมหาวิหารนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระอัครสาวกทั้งขวาและซ้ายนิพพานหมดแล้ว ก็เปรียบประหนึ่งต้นหว้าแก่ที่กิ่งใหญ่ทั้งสองหักลงแล้ว

คงเหลือแต่พระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากเพียงองค์เดียว เที่ยวติดตามประการหนึ่งว่าเงาตามพระองค์ ฉะนั้น

ประวัติพระสารีบุตร

พระสารีบุตรเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระสารีบุตร เกิดในตำบลบ้านชื่อ นาลกะ หรือ นาลันทา ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี บิดาของท่านเป็นนายบ้านตำบลนั้น เดิมท่านชื่อว่า อุปติสสะ อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกชื่อตามความที่เป็นบุตรนางสารีว่า “สารีบุตร” เมื่อท่านมาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว สพรหมจารี (สพรหมจารี – เพื่อนผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายถึงพระภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า “พระสารีบุตร” ทั้งนั้นฯ สกุลพราหมณ์ผู้เป็นบิดาแห่งอุปติสสมาณพ เป็นสกุลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้เร็ว และได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้รุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งเป็นบุตรแห่งสกุลที่มั่งคั่งเหมือนกัน เพราะตระกูลทั้งสองนั้นเป็นสหายติดต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษฯ อุปติสสมาณพ และ โกลิตมาณพ สองสหายนั้น ได้เคยไปเที่ยวดูมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเสมอ เมื่อดูอยู่นั้นย่อมร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก สลดใจในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอบชอบใจก็ให้รางวัลฯ วันหนึ่งสองสหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่หาได้ร่าเริงเหมือนเหมือนวันก่อน ๆ ไม่ เพราะพิจารณาเห็นว่าการดูมหรสพไม่เป็นสารประโยชน์อะไร เมื่อเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก ก็เล่าเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด อาจารย์จึงได้ขอให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนศิษย์ต่อไป สองสหายนั้นยังไม่พอใจในลัทธิของสัญชัยเพียงแค่นั้น จึงได้กระทำกติกานัดหมายกันว่าจะแสวงหาธรรมะอันวิเศษอีกต่อไป และถ้าใครได้พบธรรมอันวิเศษแล้วก็ขอให้จงบอกแก่กันฯ สมัยนั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหารฯ วันหนึ่งพระอัสสชิ ซึ่งจัดเข้าในพระปัญจวัคคีย์ ที่พระบรมศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนาได้กลับมาเฝ้า และเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ในตอนเช้า อุปติสสปริพาชก เดินจากที่อยู่ของปริพาชก ได้เห็นท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใส อยากทราบลัทธิของท่าน เมื่อได้โอกาสแล้ว จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชกพอเป็นเลา ๆ ความว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ฯ” อุปติสสปริพาชกได้ฟังแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงกลับมาบอกข่าวที่ตนได้พบพระอัสสชิ ให้โกลิตปริพาชกผู้เป็นสหายทราบแล้วแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตปริพาชกได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงชวนกันจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งหมดฯ สองสหายนั้นครั้นบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า “สารีบุตรและโมคคัลลานะ”

บรรลุธรรม
ภิกษุที่เป็นบริวารนั้น ครั้นได้ฟังธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาแสดงแล้วก็บรรลุพระอรหัตต์ก่อน ฯ พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหัตต์ฯ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยได้ฟังเทศนาเวทนาปริคคหสูตร ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ฯ มีเรื่องเล่าถึงความสำเร็จพระอรหันต์ของท่านว่า เมื่อท่านบวชแล้ว ๑๕ วัน พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อว่า ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากล่าวปราศรัยแล้ว จึงกราบทูลความเห็นของตนว่า “พระโคตมะ” ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด”ฯ พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงทิฐิ ๓ อย่างให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นต่อไป สมัยนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชกนั้น พิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานฯ ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้นได้เพียงดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตนเป็นอุบาสกฯ

เอตทัคคะ
ท่านพระสารีบุตรเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา และเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางปัญญา สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจ (อริยสัจ ๔) ให้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระองค์ได้ฯ

คุณธรรมพิเศษ
ท่านยังมีคุณความดีที่พระองค์ทรงยกย่องอีกเป็นหลายสถาน จะยกมากล่าวแต่ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตร เป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เรื่องนี้มีตัวอย่าง เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระองค์ ทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหายฯ
๒. ทรงยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ เช่น ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เธอเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น”ฯ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายฯ
๓. มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า “พระธรรมราชา”

ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีที่ปรากฏในตำนานอีกมาก ที่สำคัญก็คือ

ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจนฯ ขอยกตัวอย่างภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ยมกะ มีความเห็นว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญฯ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงได้หายความเคลือบแคลงสงสัย

ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีฯ ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างคือ ท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดง ได้บรรลุโสดาบันแล้ว มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ก็จะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกอย่างหนึ่งท่านยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท เพราะระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีหนึ่ง ในเมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ (เรื่องนี้จักมีพิสดารในประวัตพระราธเถระ)

อนึ่ง ท่านพระสารีบุตร นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา ธรรมภาษิตของท่านจึงมีปรากฏอยู่มาก เช่น สังคีติสูตรเป็นต้น ยกเว้นพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมากกว่าพระสาวกอื่น ๆ

นิพพาน
พระสารีบุตรนั้นนิพพานก่อนพระบรมศาสดา ก่อนแต่จะปรินิพพาน ท่านพิจารณาเห็นว่า ควรปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด จึงกราบทูลลาสมเด็จพระบรมศาสดา ไปกับพระจุนทะผู้น้องพร้อมด้วยบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้ว เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลากำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล พอเวลาใกล้รุ่งของคืนเดือน ๑๒ พระเถรเจ้าก็ปรินิพพาน รุ่งขึ้นพระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระองค์โปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระเถรเจ้าไว้ ณ ที่นั้นฯ

3 มิถุนายน 2552

เรื่องของสังขาร

การเจ็บป่วยของสังขาร

๑. เจ็บครั้งแรก เป็นเพราะธาตุทั้งหลายไม่รวมกัน
๒. เจ็บที่ ๒ เรียกว่า เจ็บด้วยกรรมในอดีต กรรมส่งมา
๓. เจ็บที่ ๓ เจ็บด้วยโรคของวิญญาณพยาบาท ในภาวะแห่งวิญญาณพยาบาทนี้ นอกจากพระโพธิสัตว์ ผู้สำเร็จแห่งพรหมโลก ที่เป็นผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย จึงสามารถแก้ไขในวิธีการนั้นๆ ได้

ตายก่อนอายุขัยสืบเนื่องมาจากอดีตกรรม ๓ ประการ คือ

๑. วิญญาณ ในคราบมนุษย์ ไม่มีศีลธรรมประจำใจ เที่ยวไปทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน
๒. วิญญาณที่อยู่ในระหว่าง อกุศลวิบากแห่งการเป็นมนุษย์ที่โหราศาสตร์ว่า ดวงมืด ดวงดับ
๓. เกิดจากอสูรฆ่า มนุษย์ผู้ใด ตกอยู่ในภาวะของอกุศลกรรม วิบากในทางที่ไม่ดี อสูรย่อมฆ่าผู้นั้นให้สิ้นไป

วัฒนธรรมของพระพุทธเจ้า

๑. ผู้ต้องการ อายุยืน พึงเจริญอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)
๒. ผู้ต้องการ วรรณะ ผิวพรรณงาม พึงรักษาศีล
๓. ผู้ต้องการ ความสุข พึงเจริญฌาน
๔. ผู้ต้องการ โภคะสมบัติ พึงเจริญ พรหมวิหาร ๔
๕. ผู้ต้องการ พละกำลัง พึงทำให้สำเร็จ พระอรหันต์ วัฒนธรรม เหตุให้เจริญอย่างยิ่ง มีอยู่ในจักรวัตติสูตร

จากสำนักปฏิบัติธรรมอาทิจจวโส

2 มิถุนายน 2552

พระพุทธเจ้าปรินิพพาน



สถานที่ประดิษฐานพระพุทธบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ



มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า



มหาปรินิพพานสถูป สถานที่ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



พระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน ในพระวิหารแห่งมหาปรินิพพานสถูป


ปัจฉิมกาล

ก่อนปรินิพพาน 3 เดือน ทรงปลงอายุสังขาร

ก่อนปรินิพพาน 1 วัน นายจุนทะถวายสุกรมัททวะ (หมูอ่อน) เมื่อพระองค์เสวยแล้วประชวรพระอานนท์โกรธ พุทธองค์จึงตรัสว่า
"บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ที่สุด มี 2ประการ คือ เมื่อตถาคต (พุทธองค์) เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ ,ปรินิพพาน"

ก่อนปรินิพพานทรงกล่าวพุทธโอวาทว่า
1.)การบูชาพุทธองค์อย่างแท้จริง คือ การปฎิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
2.)พุทธศาสนิกชนที่ต้องการเฝ้าพระองค์ควรไปที่ "สังเวชนียสถาน"
3.)การวางตัวของภิกษุต่อสตรี ต้องคุมสติอย่าแปรปรวนตามราคะตัณหา
4.)พระบรมสารีริกธาตุเป็นเรื่องของกษัตริย์(มัลลกษัตริย์) มิใช่กิจของสงฆ์
5.)ความพลัดพรากเป็นธรรมดาของโลก
6.)ธรรมและวินัย จะเป็นศาสดาแทนพุทธองค์ ทั้งนี้เพราะบุคคลไม่เที่ยงแท้เท่ากับพระธรรมซึ่งเป็นสัจธรรม
ปัจฉิมสาวก คือ สุภัททะบริพาชก

ปัจฉิมโอวาท
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจึงทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"(อปปมาเทน สมปาเทต)

ปรินิพพาน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พระชนมายุ 80 ปี ทรงเทศนาสั่งสอนมาเป็นเวลา 45 ปี
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเมืองสาวัตถี

การประดิษฐ์พุทธศาสนา ณ เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล

เมื่อประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธได้อย่างมั่นคงแล้ว ต่อมาไม่นานพระพุทธศาสนาก็มีศูนย์กลางแห่งใหม่ที่ เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล โดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้าง"วัดพระเชตวัน"ขึ้น แล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเศรษฐีนีคนหนึ่ง ก็มีจิตศรัทธาสร้าง วัดบุพพาราม ถวายด้วย

ซากมูลคันธกุฎีสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าที่วัดเชตะวันมหาวิหาร


คันธกุฎี แปลว่า กุฎีที่ทีกลิ่นหอม เป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ เรียกเต็มว่า พระคันธกุฎี ในพุทธประวัติ เล่าว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่งจะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น มาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด โดยประดับไว้ภายในที่ประทับบ้าง วางเรียงรายอยู่โดยรอบบ้าง โดยมุ่งบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกลิ่นหอมจึงปรากฏว่าหลังวัดที่ประทับจะมีดอกไม้ที่แห้งแล้วถูกนำไปทิ้งไว้เป็นกองใหญ่ด้วยมีจำนวนมาก
พระคันธกุฎี หรือสถานที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้ามิใช่จะมีกลิ่นหอมเท่านั้น ยังถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารเท่าที่มนุษย์จะทำกันได้ด้วยแรงศรัทธา



พระมูลคันธกุฎี ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร



สถูปวัดเชตวันมหาวิหาร




ซากพุทธสถานในวัดเชตวันมหาวิหาร


ซากประตูเมืองสาวัตถี

สาวัตถีในปัจจุบัน

กำแพงเมืองสาวัตถีโบราณยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานคงเหลืออยู่มากมาย เช่น ซากบ้านของบิดาพระองคุลีมาล, ซากคฤหาสถ์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี, และวัดเก่าแก่ที่สร้างอุทิศแก่ พระติรธังกร (ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน) บริเวณนอกเขตเมืองสาวัตถียังมีสถานที่สำคัญเช่น ซากยมกปาฏิหาริย์สถูป (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์) และวัดเชตวันมหาวิหาร (พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา) ซึ่งเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีวัดที่ประเทศต่างๆ ที่นับถือศาสนาพุทธมาสร้างไว้ ได้แก่ ประเทศไทย เกาหลีใต้ ศรีลังกา พม่า ธิเบตและจีน

อ้างอิงภาพข้อมูลจาก wikipedia

ทรงแสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติ

โปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัส

ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา (พระเจ้าสุทโธทนะ) ได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล จนบรรลุอรหันตผลเมื่อใกล้สวรรคต

พระนันทะ (เป็นโอรสของพระสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านำ ออกผนวชอุปสมบท

ต่อมาพระนางยโสธราก็ให้พระกุมารราหุลซึ่งมีอายุ 7 ปีไปทูลขอราชสมบัติ พระพุทธเจ้าเห็นว่าราชสมบัติเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน อริยทรัพย์(ทรัพย์อันประเสริฐ)ต่างหากเป็นสิ่งยั่งยืน จึงทรงให้พระสารีบุตรทำการบรรพชาให้ราหุลเป็นสามเณร จึงเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ นิโครธาราม พระเจ้าสุทโธทนะจึงขอร้องว่า "ขออย่าให้ทรงบวชใคร โดยที่พ่อแม่เขายังไม่ได้อนุญาต"
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จากนั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางใคร่ต่อการศึกษา

ทรงให้อุปสมบทแก่เจ้าศากยะ 5 พระองค์ คือ พระอานนท์ พระอนุรุทธ์(เป็นผู้มีเลิศในทางมีทิพยจักษุ) พระภัททิยะสักยราชา พระภัคคุ พระกิมพิละ และเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ คือพระเทวทัต จนได้บรรลุอรหัตผล 5 ท่าน ยกเว้นพระเทวทัต

พระอุบาลีเป็นบุตรของช่างกัลบก(ช่างตัดผม)อยู่ในวรรณะต่ำ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานภูษามาลาของเจ้าศากยะ ทำหน้าที่จัดการดูแลเครื่องแต่งกาย เมื่อเจ้าศากยะ 5 พระองค์ และเจ้าโกลิยะ 1 พระองค์ทรงออกผนวช อุบาลีได้ติดตามไปขออุปสมบทด้วย พระอุบาลีเมื่อได้อุปสมบทแล้วไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศทาง ด้านผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย

พระนางปชาบดีโคตมี(พระน้าของพระพุทธเจ้า) ได้ผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา โดยพระอานนท์ช่วยกราบทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้าสุดท้ายได้บรรลุพระอรหันต์ และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางรู้ราตรี

โปรดให้พระนางยโสธราได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีชื่อพระนางภัททา กัจจานา จนบรรลุอรหัตผล และได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางบรรลุอภิญญาใหญ่ (สามารถระลึกเหตุการณ์ในกัปป์ต่างๆย้อนหลังไปได้มากนับไม่ถ้วน)

โอวาทปาติโมกข์ มาฆบูชา

โอวาทปาติโมกข์

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (มาฆบูชา) เกิดมีจตุรงคสันนิบาต ซึ่งประกอบด้วย
1.)วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา

2.)พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

3.)พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖ ซึ่งหมายถึงความสามารถ พิเศษ ๖ ประการ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุอาสวักขยญาณ (คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

4.)พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)
ทรงเทศน์ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งถือเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ใจความว่า
" จงทำดี ละเว้นความชั่ว และทำใจให้บริสุทธิ์ "

พระสงฆ์ปรารถว่าไม่เคยเห็นฝนเช่นนี้มาก่อน พระพุทธจึงทรงเล่าว่า ฝนนี้เคยตกมาแล้วเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วจึงทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดร

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

อุปติสสะ(พระสารีบุตร)และโกลิตะ(พระโมคคัลลานะ)

ณ กรุงราชคฤห์นี้เอง เด็กหนุ่มสองคน ซึ่งเป็นศิษย์ของนักปรัชญาเมธี ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ สัญชัย เวลัฏฐบุตร โดยพระอัสสชิได้แสดงธรรมให้อุปติสสะว่า

"ทุกสิ่งจากเหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น และการดับเหตุของสิ่งเหล่านั้น"
อุปติสสะได้ฟังก็เกิด "ดวงตาเห็นธรรม" จึงกราบลาท่าน แล้วรีบไปบอกข้อความที่ตนได้ฟังมาแก่โกลิตะทราบ โกลิตะได้ฟังก็เกิด"ดวงตาเห็นธรรม" เด็กหนุ่มสองคนจึงมาขอบวชเป็นสาวกพร้อมกัน และมีชื่อเรียกทางพระศาสนาว่า พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ตามลำดับ

หลังจากบวชได้ 7 วัน พระโมคคัลลานะได้ไปบำเพ็ญสมาธิอยู่ที่ กัลลวาลมุตตคาม ใกล้เมืองมคธ รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนพระพุทธเจ้าเสด็จไปตรัสบอกวิธีเอาชนะความง่วงให้ พร้อมประทานโอวาทว่าด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเวทนา (ความรู้สึก) ทั้งหลายว่า เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน จบพุทธโอวาท พระโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

หลังจากบวชได้ 15 วัน พระสารีบุตรได้ถวายงานพัดพระพุทธเจ้า ขณะพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดทีฆนขะปริพาชก (นักบวชไว้เล็บยาว) อยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฏ ท่านพัดวีพระพุทธองค์พลางคิดตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้าไปด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ทั้งสองท่านได้รับแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวก โดยพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา มีความเป็นเลิศกว่าผู้อื่นทางปัญญา และพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย มีความเป็นเลิศกว่าผู้อื่นทางฤทธิ์มาก

พระพุทธเจ้าแสดงธรรม

ลักษณะการแสดงธรรม

- สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมมาก่อนจะทรงเทศน์ "อนุปุพพิกถา" ซึ่งว่าด้วยเรื่อง
- คุณของการให้ทาน การรักษาศีล
- สวรรค์ (การแสวงสุขเนื่องจากการให้ทาน การให้ศีล)
- โทษของกามและการปลีกตัวออกจากกาม
- จากนั้นจึงทรงเทศน์ อริยสัจ4

แสดงธรรมโปรดยสกุลบุตร

- ยสกุลบุตรเบื่อหน่ายชีวิตครองเรือนหนีออกจากบ้าน ไปยังป่าอิสปตนมฤคทายวันในเวลาเช้ามืด แล้วพบพระพุทธเจ้าบังเอิญ ยสกุลบุตรสดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ และขอบวช
- อุบาสิกอุบาสิกาคู่แรก คือ บิดามารดาของพระยสะ
- ครั้นแล้วมีเพื่อนของพระยสะ 4 คนกับอีก 50 คน ได้มาฟังพระธรรมเทศนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงมีพระอรหันต์ในโลก 61 องค์

การส่งสาวกออกประกาศศาสนา

- ตรัสเรียกสาวกออกประกาศศาสนา เมื่อมีสาวกครบ 60 รูป (ปัญจวัคคีย์และพวกพระยสะ)
- ตรัสให้พระสาวก 60 รูปแยกย้ายกันประกาศศาสนา 60 แห่งไม่ซ้ำทางกัน
- พระองค์จะเสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม
- เมื่อสาวกออกประกาศเทศนา มีผู้ต้องการบวชมาก และหนทางไกลกัน จึงทรงอนุญาตให้สาวกดำเนินการบวชได้ โดยใช้วิธีการ "ติสรณคมนูปสัมปทา" (ปฏิญาณตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย)9.การประดิษฐ์พุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ
- วิธีเผยแพ่รศาสนาในกรุงราชคฤห์ ทรงเทศน์โปรดชฎิล(นักบวชเกล้าผม)สามพี่น้อง ได้แก่ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ และบริวาร รวม 1,000 คนก่อน แล้วได้ขอบวชในพระพุทธศาสนา เพราะพวกชฎิลเป็นเจ้าลัทธิบูชาไฟที่ยิ่งใหญ่ หากชฎิลยอมรับพุทธธรรมได้ ประชาชนก็ย่อมเกิดความศรัทธา
- พระอุรุเวลกัสสปะได้ยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางมีบริษัท(บริวาร)มาก
- พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายวัดนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ พระเวฬุวันมหาวิหาร (วัดเวฬุวัน)

พระพุทธเจ้าปฐมเทศนา

ปฐมเทศนา
หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ได้พิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ทรงเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงเกิดความท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรมโปรดมหาชน ต่อมาท่านได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนั้นแล้วจึงดำริที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป

บัว ๔ เหล่า ได้แก่

๑.พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที (อุคฆฏิตัญญู)

๒.พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป (วิปัจจิตัญญู)

๓.พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง (เนยยะ)

๔.พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (ปทปรมะ)



จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ (ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ) จึงเสด็จไปที่ป่าอิสปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี ในวันขึ้น 15 เดือน 8 จึงทรงปฐมเทศนา " ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป)" ซึ่งใจความ 3 ตอน คือ

1.) ทรงชี้ทางผิดอันได้แก่กามสุขัลลิกานุโยค(การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค(การทรมานตนให้ลำบาก) ว่าเป็นส่วนสุดที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน แต่เดินทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรคมีองค์แปด เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
2.) ทรงแสดงอริยสัจ 4 โดยละเอียด
3.) ทรงปฏิญญาว่าทรงตรัสรู้พระองค์เอง และได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว


โกญฑัญญะเป็นผู้ได้ธรรมจักษุก่อน เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า
"ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ " สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรม สิ่งนั้นทั้งหมดมีดับเป็นธรรมดา
จึงได้อุปสมบทเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทาองค์แรก
หลังจากปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว พุทธองค์จึงทรงเทศน์ อนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์จึงสำเร็จเป็นอรหันต์

พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ตรัสรู้(15 ค่ำเดือน 6)

ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส(หุงด้วยนม) ใต้ต้นไทร เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองในแม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ... “ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ” ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ๑ เส้น แล้วก็จมลงตรงนาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช พระองค์ทรงโสมนัสและแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้

ในเวลาเย็นโสตถิยะให้ถวายหญ้าคา 8 กำมือ ปูลาดเป็นอาสนะ ณ โคนใต้ต้นโพธิ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (ปัจจุบันคือ ต.พุทธคยา ประเทศอินเดีย)ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะบรรลุโพธิญาณ ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกทรงบรรลุรูปฌาณทั้ง 4 ชั้น แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้ง คือ

1. เวลาปฐมยาม ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้

2. เวลามัชฌิมยาม ทรงได้จุตูปปาตญาณ(ทิพยจักษุญาณ)คือรู้เรื่องเกิด-ตายของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำไว้

3. เวลาปัจฉิมยาม ทรงได้ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะหรือกิเลส หมายถึง ตรัสรู้อริยสัจ4
อาสวักขยญาณ ที่ทรงได้ทำให้ทรงพิจารณาถึงขันธ์ 5 และใช่แห่งความเป็นเหตุที่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นต้นทางให้เขาถึงอริยสัจ 4

เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นแล้ว จึงละอุปาทานและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ต้นศรีมหาโพธิ์

ต้นอานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ซึ่งชาวพุทธนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสองรองจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวัดเชตวันมหาวิหาร




ต้นศรีมหาโพธิ์

สถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์นี้ พระแท่นวัชรอาสน์ อาสนะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับขณะบรรลุธรรมสูงสุดใต้ต้นศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ ปัจจุบันเป็นต้นที่ 4

ต้นที่ 1 ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นมีอายุเพียง 276 ปีก็ตายไปเพราะฝีมือมเหสีองค์ที่ 4 ของพระเจ้าอโศกเพราะอิจฉาพระเจ้าอโศกที่มาเลื่อมใสมาก จึงเอายาพิษและน้ำร้อนราดต้นจนตาย

ต้นที่ 2 พระเจ้าอโศกทรงเศร้าพระทัยยิ่งนักจึงนำน้ำนมโคมารดบริเวณนั้นจนมีหน่องอกขึ้นมาแทน มีอายุประมาณ 781-891 ปีก็ถูกทำลายลงด้วยฝีมือกษัตริย์เบงกอลที่ยกทัพมาเพราะเกลียดศาสนาพุทธยิ่งนัก

ต้นที่ 3 พระเจ้าปูรณวรมา ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลาย จึงใช้น้ำนมโครดบริเวณนั้นเช่นกัน จนเกิดหน่อขึ้นมา มีอายุประมาณ 1258-1278 ปี ก็ถูกพายุพัดล้มลง

ต้นที่ 4 คือต้นปัจจุบัน ปลูกโดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยนำหน่อที่แตกจากต้นที่ 3 มีอายุถึงปัจจุบัน 126 ปี จากประวัติจะเห็นว่าต้นโพธิ์ทุกต้นสืบมาจากต้นที่ 1 นอกจากนั้นเมื่อพระเจ้าอโศกส่งสมณฑูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็น 9 สาย ทุกสายได้นำหน่อจากต้นที่ 1 ไปด้วย ทราบว่าต้นที่อายุยืนที่สุดอยู่ที่ประเทศศรีลังกา อายุประมาณ 2300 กว่าปี


ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่เมือง Anuradhapura ที่ประเทศศรีลังกา

อ้างอิงจากวิกิพีเดีย

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช

เสด็จออกผนวช

ทรงเห็นความสุขทางโลกเป็นเพียงมายา ความสุขในกามคุณเป็นความสุขจอมปลอม เป็นเพียงภาพมายาที่ ชวนให้หลงว่าเป็นความสุขเท่านั้น ในความจริงแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความเพลิดเพลินใดที่ไม่มีความทุกข์เจือปนวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ของชีวิตเช่นนี้ได้ หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะต้องสละเพศผู้ครองเรือนเป็นสมณะสิ่งที่ทรงพบเห็นเรียกว่า "เทวทูต(ทูตสวรรค์)"

จึงตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ในวันที่พระราหุลประสูติเล็กน้อย พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช มีนายฉันทะตามเสด็จ โดยมุ่งตรงไปที่แม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเกศา และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นผ้ากาสาวพักตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) ทรงเปลื้องเครื่องทรงมอบให้นายฉันนะนำกลับพระนคร การออกบวชครั้งนี้เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)

หลังจากทรงผนวชแล้ว จึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ เพื่อค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่แปด) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้

จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้สถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า "เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดีจึงจะได้เสียงที่ไพเราะ" ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่า เป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้


ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ (โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ อัสสชิ) มาคอยปรนนิบัติพระองค์โดยหวังว่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษ เมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงหมดศรัทธา พากันไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ต.สารนาถ)

พระพุทธเจ้าประสูติ


ประสูติ

พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" เป็พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล พระราชมารดาทรงพระนามว่า "พระนางสิริมหามายา" ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ(ปัจจุบันคือ ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ได้มีพราหมณ์ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ ถ้าดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน



ทันทีที่ประสูติ ทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว มีดอกบัวผุดรองรับ ทรงเปล่งพระวาจาว่า "เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา"
วัยเด็ก

หลังประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายา
พระบิดาไม่ประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอก จึงพยายามให้สิทธัตถะพบแต่ความสุขทางโลก เช่น สร้างปราสาท 3 ฤดู และเมื่ออายุ 16 ปี ได้ให้เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกกับนางพิมพาหรือยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา
ศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับสูงของการศึกษาทางโลกในสมัยนั้น ค์อ ศิลปศาสตร์ถึง 18 ศาสตร์ ในสำนักครูวิศวามิตร

เมื่อมีพระชนมายุ 29 ปี พระนางพิมพาก็ให้ประสูติ ราหุล (บ่วง)

เมื่อทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณตามลำดับ จึงทรงคิดว่าชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ จึงเกิดแนวความคิดว่า
ธรรมดาในโลกนี้มีของคู่กันอยู่ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็น , มีทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่สุดทุกข์ คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย